วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ต้นไม้มงคล

ไม้มงคล

ต้นมะยม

          ฟังแค่ชื่อ "มะยม" ก็พอเดาได้ใช่ไหมล่ะว่า ทำไมคนถึงนิยมปลูกต้นมะยมไว้ที่บ้านกัน ก็เพราะเขาเชื่อกันว่า การปลูกต้นมะยมจะทำให้คนนิยมชมชอบ รักใคร่ มีชื่อเสียง ไม่มีคนคิดร้าย หรือเป็นศัตรูนั่นเอง ส่วนอีกความเชื่อหนึ่งก็บอกว่า หากปลูกต้นมะยมไว้ทางทิศตะวันตก จะช่วยป้องกันภูตผีปีศาจได้


 ต้นมะม่วง

          นอกจากจะให้ร่มเงา และผลแสนอร่อยแล้ว มะม่วงยังเป็นต้นไม้มงคลที่มีความเชื่อมาตั้งแต่พุทธกาลว่า หากปลูกต้นมะม่วงไว้ทางทิศใต้ของบ้านแล้ว จะทำให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านร่ำรวยยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น และยังช่วยป้องกันไม่ให้คนอื่นมารังแก รังควาน หรือใส่ความได้ด้วย




 ต้นขนุน

          อีกหนึ่งต้นไม้ชื่อมงคลที่คนนิยมปลูกเช่นกัน เพราะตามความเชื่อของคนโบราณ บอกกันว่า การปลูกต้นขนุนจะทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับการสนับสนุน มีคนคอยอุปการะอุดหนุนจุนเจือ คอยให้ความช่วยเหลือ มีคนสรรเสริญ สามารถป้องกันอันตรายและคนใส่ร้ายป้ายสีได้ ซึ่งหากบ้านไหนคิดจะปลูกต้นขนุนแล้วล่ะก็ ควรเลือกปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะดีที่สุด โดยให้หัวหน้าครอบครัวเป็นคนลงมือปลูกในวันจันทร์ หรือวันพฤหัสบดี



 ต้นมะขาม

          หากบ้านไหนต้องการให้ผู้อื่นเกรงขาม ตามความเชื่อเขาแนะนำให้ปลูกต้นมะขามไว้ทางทิศตะวันตก เพราะเชื่อกันว่า ต้นมะขามจะทำให้ผู้อยู่อาศัยเป็นที่น่าเกรงขามต่อผู้อื่น และทำให้คนชื่นชอบ นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันคดีความ ภูตผีปีศาจ และผีซ้ำด้ำพลอย




  ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน

          ต้นไม้ประจำชาติไทยที่ออกดอกสีเหลืองทองสวยอร่ามนี้ คนไทยสมัยโบราณเชื่อกันว่า หากนำมาปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้าน จะช่วยให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ นอกจากนี้ จะช่วยให้คนในบ้านมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ด้วย เพราะต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย ส่วนใบของราชพฤกษ์ก็มักถูกนำไปใช้ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ คนจึงเชื่อว่า ราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากทีเดียว



 ต้นกล้วย

          ต้นไม้ที่ปลูกง่ายอย่างต้นกล้วยนี้ ก็เป็นต้นไม้ที่คนไทยสมัยก่อนนิยมปลูกไว้ในบ้านกันมาก เพราะนอกจากจะสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วย ทั้งหัวปลี ลำต้น ผล ใบ ฯลฯ มาทำประโยชน์ได้มากมายแล้ว เขายังมีความเชื่อด้วยว่า การปลูกต้นกล้วยไว้ทางทิศตะวันออกของบ้านจะช่วยให้การทำงานราบรื่น คิดสิ่งใดทำสิ่งใดก็ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากนั่นไง  




ต้นไผ่

          ตามตำราฮวงจุ้ยของจีนบอกไว้ว่า ต้นไผ่เป็นสัญลักษณ์ของความสง่าเหนือธรรมชาติ หากปลูกไว้ในบ้านจะเสริมมงคลให้ผู้อยู่อาศัย ทำให้เป็นคนมุ่งมั่น ตั้งใจจริง มีสติปัญญา เอื้ออารี และกตัญญูรู้คุณ ซึ่งก็ไม่ต่างจากคนไทยที่เชื่อกันว่า หากปลูกต้นไผ่ไว้ในบริเวณบ้าน จะทำให้สมาชิกในบ้านตั้งใจทำงาน ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ไม่คดโกงเอารัดเอาเปรียบใคร นั่นก็เป็นเพราะลักษณะของต้นไผ่ที่มีลำต้นเหยียดตรง แข็งแรง สามารถต้านทานแรงลมพายุได้นั่นเอง

          หากจะปลูกต้นไผ่ ควรปลูกไว้ริมรั้วของบ้าน หรือบริเวณที่โล่งกว้าง ให้ต้นไผ่ได้แตกหน่อเจริญงอกงาม และควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออก เพื่อให้ต้นไผ่ได้รับแสงแดดยามเช้า นอกจากนี้ ยังควรปลูกต้นไผ่ในวันเสาร์จึงจะเป็นมงคล อ้อ...ลืมบอกไปว่า ต้นไผ่มีหลากหลายชนิด ทั้งไผ่เหลืองทอง ไผ่สีสุก ไผ่เตี้ย ไผ่น้ำเต้า แต่คนโบราณเชื่อกันว่า ถ้าปลูกไผ่สีสุกจะช่วยให้สมาชิกในบ้านประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทอง และมีความสุขกันถ้วนหน้า เพราะชื่อไผ่สีสุกไปคล้องกับคำอวยพรที่ว่า "มั่งมีศรีสุข" นั่นเอง

การป้องกันและกำจัดโรคพืช

การป้องกันและกำจัดโรคพืช

สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
๑.    การเลือกที่ปลูกควรคำนึงถึงความเหมาะสม ๒ ประการ คือ

๑.๑ ด้านเศรษฐกิจ ให้เลือกบริเวณปลูกใกล้ตลาดที่มีการขนส่งสะดวก และระยะใกล้ที่สุด เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่าย ในการดูแลรักษา และลดระยะเวลาเสี่ยงต่อความเสียหายที่พืชผลหลังเก็บเกี่ยว จะถูกทำลายด้วยโรคและแมลง เช่น โรคเน่าเละของพืชผัก โรคผลเน่าของไม้ผล เป็นต้น

๑.๒ ด้านการเพาะปลูก เลือกบริเวณที่มีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะแก่พืชที่ปลูก เพื่อให้พืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะกล้า และต้นอ่อน ซึ่งเป็นระยะที่อ่อนแอต่อโรคต่างๆ เจริญเติบโตเร็ว เป็นการหลีกเลี่ยงการเป็นโรค เช่น โรคเน่าระดับคอดิน โรคราน้ำค้างข้าวโพด เป็นต้น

เลือกปลูกพืชในบริเวณที่ไม่เคยมีโรคระบาดมาก่อน หรือไม่ควรปลูกพืชเดิมซ้ำแปลงเดิมที่เป็นโรค ควรเว้นระยะปลูกพืชนั้น ให้นานพอประมาณ เพื่อลดปริมาณเชื้อที่เคยระบาดวิธีนี้จะช่วยลดการเกิดโรคได้มาก โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อสาเหตุ ที่อาศัยอยู่ในดิน

๒. การเตรียมดินและการปรับปรุงดิน 
๒.๑ การเตรียมดิน วัตถุประสงค์หลักของการเตรียมดิน โดยการขุด ไถพลิกดิน หรือพรวนด้วยเครื่องมือนานาชนิด เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วน มีการระบายหรืออุ้มน้ำดี และอุณหภูมิภายในดินเหมาะสมแก่การปลูกพืช ซึ่งนอกจากจะทำให้พืชเจริญเติบโตเร็ว หลีกเลี่ยงการเกิดโรคแล้ว การตากดินเป็นครั้งคราวประมาณครั้งละ ๑๐-๑๕ วัน ยังช่วยลดปริมาณเชื้อโรคในดิน และกำจัดวัชพืชต่างๆ โรคหลายชนิด เช่น โรคราน้ำค้าง โรคเขม่าดำ โรคตากลของถั่วเหลือง เชื้อสาเหตุจะยังเจริญอยู่ในเศษส่วนหนึ่งที่เน่าเปื่อยของพืชเป็นโรค หรือส่วนขยายพันธุ์ที่เรียกว่า สปอร์ ยังตกค้างอยู่ในดิน ซึ่งการไถพลิกดินตากแดดนี้ช่วยลดปริมาณเชื้อ และการเกิดโรคในฤดูปลูกต่อไปได้ ส่วนแปลงที่มีไส้เดือนฝอยรากแผลระบาด การไถพลิกดินตากแดดในฤดูร้อนจะช่วยฆ่าไส้เดือนฝอยรากแผล ซึ่งไม่ทนต่อความร้อนแห้ง และฆ่าตัวอ่อนของไส้เดือนฝอยรากปม ส่วนไข่จะได้รับออกซิเจน และความอบอุ่น เร่งให้ฟักเป็นตัว และถูกความร้อนฆ่าต่อไป

๒.๒ การปรับปรุงดิน ดินในบางท้องที่เป็นกรดมากเกินไป (เรียกว่า ดินเปรี้ยว) หรือเป็นด่างมากเกินไป ซึ่งเป็นส่วนส่งเสริม ให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญได้ดี หรือธาตุอาหารบางอย่างอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ไม่ได้ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการผิดปกติ และโรคระบาดเกิดขึ้น ฉะนั้นควรตรวจดูความเป็นกรดเป็นด่างของดินเป็นครั้งคราว ถ้าทำเองไม่ได้ ก็ควรส่งตัวอย่างดินหรือพืช มาวิเคราะห์ที่กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร ซึ่งก็จะได้คำตอบพร้อมทั้งคำแนะนำในการปรับปรุงดินที่เหมาะสมต่อไป สำหรับวิธีแก้ไขง่ายๆ เมื่อทราบว่าดินเป็นกรด คือการใส่ปูนขาวแล้วคลุกดินให้ดี ไม่ควรโรยที่ผิวหน้า เพราะเมื่อปูนขาวถูกน้ำ จะจับกันเป็นก้อนแข็ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการปลูกพืช การใส่ปูนขาวจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความเป็นกรดของดินที่จะปรับ นอกจากนี้ยังนิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยอนินทรีย์ (ปุ๋ยวิทยาศาสตร์) มาช่วยในการปรับปรุงดิน ตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณีไป

๓. การเลือกพืชปลูกสลับหรือพืชหมุนเวียน

เป็นวิธีที่จะช่วยป้องกัน และลดความเสียหายจากการระบาดของโรคบางชนิดได้ โดยเฉพาะเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในดิน การพิจารณาว่า จะใช้พืชอะไรมาปลูก และนานเท่าใดนั้น ควรมีหลักดังนี้

๓.๑ ความสามารถที่จะอยู่ในบริเวณแปลงเป็นโรคนานเท่าไร

๓.๒ ปริมาณเชื้อมีมากน้อยแค่ไหน และความสามารถในการแพร่ขยายพันธุ์

๓.๓ พยายามมาลดปริมาณของเชื้อให้น้อยลง โดยการปลูกพืชที่ทำลายเชื้อสาเหตุ เช่น ดาวเรือง ซึ่งขับสารทำลายไส้เดือนฝอย ทำให้ปริมาณไส้เดือนฝอยลดลง

๓.๔ ต้องระวังพืชบางชนิดที่เชื้อเข้าเจริญขยายพันธุ์ได้ดี แต่พืชไม่แสดงอาการโรคให้เห็นเด่นชัด เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อ เมื่อปลูกพืชเศรษฐกิจก็อาจจะถูกเชื้อเข้าทำลายเสียหายรุนแรง

จากหลักดังกล่าว พืชที่นำมาปลูกสลับ หรือหมุนเวียนนั้น ส่วนใหญ่ไม่ควรใช้พืชพวกเดียวกัน เช่น ปลูกพริกแล้วเป็นโรคเหี่ยว ก็ควรใช้ข้าวโพด ถั่ว หรือ ผัก มาปลูกสลับ ๑-๒ ปี แล้วจึงหันมาปลูกพริกใหม่ พวกไส้เดือนฝอย รากแผลซึ่งเข้าทำลายข้าวโพด แต่ไม่ทำลายฝ้ายกับถั่วลิสง ดังนั้นเมื่อปลูกฝ้าย และถั่วลิสงหลังข้าวโพด จะให้ผลผลิตของพืชทั้งสอง และจำนวนไส้เดือนฝอยจะลดลง เมื่อถึงเวลาปลูกข้าวโพดใหม่ข้าวโพดจะไม่เสียหาย เนื่องจากไส้เดือนฝอยชนิดนี้ ในทางตรงข้าม ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อลดความเสียหายจากไส้เดือนฝอยรากปม ไม่ค่อยได้ผล เพราะไส้เดือนฝอยรากปมมีพืชอาศัย (กว่า ๒,๕๐๐ ชนิด) นอกจากจะปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ เช่น ถั่วโครตาลาเลีย ซึ่งมีความต้านทานต่อไส้เดือนฝอยรากปม และต้องใช้วิธีอื่น ในการป้องกัน และกำจัดไส้เดือนฝอยรากปม เป็นต้น

๔. การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ 
เมล็ดพันธุ์ และส่วนขยายพันธุ์ที่ปราศจากโรค เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะต้องมีการคัดเลือก เพื่อนำมาปลูก เพราะจะเป็นการป้องกันการเกิดโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงควรคัดเลือกจากต้นพืชปกติ หรือซื้อหาจากแหล่งที่เชื่อถือได้

การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดี นำไปเพาะปลูก

กรณีที่กสิกรผลิตเมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์เองควรจะมีการวางแผน เช่น เลือกบริเวณปลูกส่วนใดส่วนหนึ่งที่เหมาะสม มีการดูแลทั่วถึง เพื่อปลูกพืช ส่วนที่จะใช้ขยายพันธุ์ต่อไป หรือกสิกรควรมีการคัดเลือกพืชต้นที่แข็งแรง ไม่แสดงอาการเป็นโรคต่างๆ มีการดูแลรักษาพิเศษ พร้อมทั้งศึกษาวิธีการเก็บส่วนขยายพันธุ์ที่ถูกต้อง และมีคุณภาพดี ควรทราบว่า มีโรคหลายชนิดที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ กิ่งตอน หรือท่อนพันธุ์ เช่น โรคใบขาวของอ้อย โรคราน้ำค้างข้าวโพด วิธีการเก็บเมล็ดข้าวโพด คือ ต้องตากเมล็ดให้แห้ง พบว่าเมล็ดที่มีความชื้นน้อยกว่า ๙ เปอร์เซ็นต์ จะไม่ถ่ายทอดโรคราน้ำค้างนี้
การคัดเลือกพืชที่ปราศจากโรค นำมาขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
กรณีที่กสิกรจำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งอื่น ถ้าเป็นบริเวณใกล้เคียง ควรสืบประวัติที่มา ของส่วนขยายพันธุ์นั้นๆ ว่า มาจากแหล่งที่มีโรคระบาดหรือไม่ และควรซื้อจากผู้จำหน่ายที่เชื่อถือได้ ถ้าไม่แน่ใจว่า พืชมีโรคติดมาหรือไม่ ควรมีการป้องกันการเกิดโรคที่ติดมากับส่วนขยายพันธุ์ โดยวิธีที่เหมาะสม เช่น ใช้ยาคลุกเมล็ด หรือแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อน หรือสารเคมีบางชนิด ตัวอย่างเช่น โรคแอนแทรคโนสของพริก ถ้าจำเป็นต้องเก็บเมล็ดพันธุ์จากแปลงที่เป็นโรค ให้แช่เมล็ดในน้ำร้อนอุณหภูมิ ๕๐-๕๒ องศาเซลเซียส นาน ๓๐ นาที หรือคลุกยาเดลเซน เอ็มเอ็กซ์ (Delsene MX) ก่อนนำไปปลูกจะช่วยลดการเกิดโรคได้ ส่วนท่อนพันธุ์อ้อย ซึ่งต้องเก็บจากแปลงที่เป็นโรคใบขาว ควรแช่ในสารละลายเตตราไซคลิน (Tetracycline HCI) เข้มข้น ๕๐๐ ppm. ทำให้ร้อน ๔๕-๕๕ องศาเซลเซียส นาน ๓๐ นาที สามารถทำให้อ้อยไม่เป็นโรคจนเป็นอ้อยตอปีที่ ๑

 การคัดเลือกพืชที่ปราศจากโรค นำมาขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ   
                                                             
กรณีที่กสิกรสั่งพันธุ์จากต่างประเทศ ควรมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่า ปราศจากโรค ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการนำเชื้อโรค ซึ่งเดิมอาจไม่เคยมีในประเทศไทยเข้ามาแพร่ระบาด และอาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงได้ ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศมาแล้ว สำหรับประเทศไทยสันนิษฐานว่า โรคใบไหม้ของข้าว ที่เคยทำความเสียหายให้กับข้าว ได้รับมาจากประเทศญี่ปุ่น หรือโรคราน้ำค้างข้าวโพด พบรายงานครั้งแรกในปี ๒๕๑๑-๑๒ อาจติดเข้ากับเมล็ดพันธุ์ ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ปัจจุบันระบาดทำความเสียหายมาก และยังไม่มีวิธีที่เหมาะสม ที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดโรคได้ เพราะฉะนั้น การสั่งพันธุ์จากต่างประเทศ จึงควรระมัดระวังการนำเชื้อโรคข้ามประเทศมาระบาด ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขั้นรุนแรงได้ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

๕. การเลือกเวลาปลูก 
โรคบางอย่างอาจหลีกเลี่ยง หรือหนีโรคได้ ถ้าเราเลือกเวลาปลูกให้ดี เช่น ถ้าพืชนั้นเกิดโรครุนแรงในฤดูฝน ก็ควรเลี่ยงมาปลูกต้น หรือปลายฤดูฝน ถ้าเกิดโรคมากในฤดูหนาวมีควรเลี่ยงมากปลูกต้นหรือปลายฤดูแทน ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น โรคราน้ำค้างของข้าวโพดเริ่มระบาดในช่วงต้นฝน คือ ประมาณเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม และข้าวโพด จะเป็นโรครุนแรงในช่วงอายุน้อยกว่า ๑ เดือน จึงควรทำการปลูกข้าวโพดก่อนกำหนดเวลาปลูก โดยทั่วไปประมาณ ๑ เดือน จะช่วยให้ข้าวโพดเจริญเติบโต และแข็งแรงพอที่จะต้านทานโรคได้ และทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นน้อยลง

๖. การใช้สารเคมี 
ปัจจุบันสารเคมี เช่น ยาป้องกัน และกำจัดรา ยังมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ช่วยในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก การใช้สารเคมีเหล่านี้จำเป็นต้องมีการศึกษาให้ทราบเสียก่อนว่า มียาอะไรบ้างที่ฉีดแล้วได้ผล ควรจะฉีดระยะเวลาใด และควรฉีดบ่อยครั้งแค่ไหน กสิกรไม่ควรไปขอซื้อยาตามตลาด ซึ่งทั้งผู้ซื้อและขายก็ไม่ทราบว่า จะเอาไปฉีดป้องกันโรคอะไร ใช้แล้วให้ผลอย่างไร ซึ่งเป็นการเสี่ยงมาก ที่กล่าวว่า เป็นการเสี่ยงมาก เพราะถ้าใช้ยาผิดทำให้ยาไม่ได้ผล เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นแล้ว บางครั้งยังทำให้เชื้อโรคสาเหตุเพิ่มความรุนแรงของโรคมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นการจะพิจารณาใช้ยาอะไร ควรคิด และสอบถามผู้รู้ หรือหน่วยงานราชการทางการเกษตรให้รอบคอบเสียก่อนจึงตัดสินใจใช้

สารเคมีหรือยาปราบศัตรูพืชนี้ สามารถแบ่งการใช้ประโยชน์ได้ ๓ ประเภท คือ

๖.๑ กำจัดศัตรูพืชให้หมดสิ้นไปมากที่สุด มักจะกระทำก่อนเริ่มปลูกพืช เช่น การอบดินฆ่าเชื้อ ซึ่งมีผลฆ่าทั้งศัตรูพืช เช่น ไส้เดือนฝอย เชื้อโรคในดิน วัชพืช และเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่อาจมีประโยชน์ด้วย หรืออาจกระทำให้ขณะที่ปลูกพืชแล้ว แต่ต้องมีการคัดเลือกชนิดของยาให้เหมาะสม และไม่เป็นอันตรายต่อพืช

๖.๒ การฉีดยาป้องกันศัตรูพืช การใช้ยาประเภทนี้จะมีการวางแผน และฉีดยาล่วงหน้าก่อนเกิดโรค โดยใช้หลักว่า ปลูกพืชอะไร พืชนั้นมีโรคอะไรบ้างเกิดโรคในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างไร จากนั้นจะมีการคัดเลือกชนิดยาที่เหมาะสม (ส่วนมากมักเป็นยาเคลือบคลุมส่วนต่างๆ ของพืช) ส่วนการวางตารางการฉีดยาว่า จะบ่อยครั้งแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น โรคราน้ำค้างขององุ่น มียาหลายชนิดที่ใช้ได้ผล และโดยทั่วไปนิยมฉีด ๓ ครั้ง คือ ก่อนดอกบาน หลังดอกบานและอีก ๒๑ วันหลังจากฉีดครั้งที่ ๒ อย่างไรก็ตามความบ่อยครั้งของการฉีด ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และสภาพของแต่ละท้องถิ่น ถ้ามีฝนตกชุก จะต้องมีการฉีดบ่อยครั้งขึ้น แต่ที่ต้องทำแน่นอนคือ ก่อนและหลังดอกบาน และควรคำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดกับใบดอก ผลที่ติดใหม่ ซึ่งยาบอร์โอมิกซ์เจอร์มักทำให้เกิดอันตรายต่อองุ่น

วิธีการเตรียมท่อนพันธุ์อ้อยก่อนปลูก เพื่อลดโรคใบขาว

การป้องกันที่เห็นได้ชัดและทำกันเสมอ คือ การใช้ยาคลุกเมล็ดหรือแช่ท่อนพันธุ์ ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย เช่น เมล็ดข้าวโพด คลุกยาเมทาแลกซีล (metalaxyl) ก่อนคลุก ใช้น้ำพรม แล้วคลุกเมล็ดให้เปียกพอประมาณ เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง เมล็ดพริก คลุกยา เดลเซน เอ็มเอ็กซ์ (Delsene MX) ป้องกันโรคแอนแทรคโนส ยาสูบ คลุกยาแคปแตน ๕๐ (Captan 50) ป้องกันโรคตากบ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา มะเขือเทศ คลุกยาแคปแตน ๗๕ เปอร์เซ็นต์ (captan 75%) เพื่อป้องกันโรคเหี่ยว ส่วนการแช่ท่อนพันธุ์ นิยมทำกันมากกับพืชบางชนิด เช่น อ้อย (ดูหัวข้อ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ และส่วนขยายพันธุ์)
การฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อทำลายแมลงนำเชื้อโรค

เป็นการฉีดยาที่จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน โรคพืชหลายชนิดที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือไมโคพลาสมามีแมลงพวกเพลี้ย จักจั่น เพลี้ยกระโดด แมลงหวี่ขาว เป็นตัวนำเชื้อโรค และถ่ายทอดไปยังต้นปกติใกล้เคียง หรือที่ที่แมลงบินไปถึง ฉะนั้น การฉีดยาฆ่าแมลงเป็นครั้งคราว จะช่วยงดการระบาดของโรคได้ตัวอย่างเช่น โรคใบสีส้มของข้าว มีเพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นตัวนำโรค ใบหดของยาสูบมีแมลงหวี่ขาวเป็นตัวนำโรค เป็นต้น
๖.๓ การฉีดยารักษาต้นพืชที่เป็นโรค พืชบางชนิดโดยเฉพาะพวกที่มีราคาแพง หรือหายาก เช่น กล้วยไม้ หรือไม้ยืนต้นบางประเภท ถ้าเป็นโรคจะเผาทิ้งทันที ก็เสียดาย จึงพยายามหาทางรักษา หรือพืชผลที่ปลูกในพื้นที่มากๆ เมื่อเกิดโรคระบาดแล้ว จะต้องคัดเลือกหายา ที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสม (ดูข้อ ๖) ฉีดกำจัดโรคนั้น เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด หรือลดความเสียหายลง แต่โดยหลักปฏิบัติ ในการป้องกันและกำจัดโรคนั้น จะต้องยึดถือหลักที่ว่า ควรทำการป้องกัน ไม่ให้พืชเป็นโรค มากกว่าการรักษา (ดู ๖.๒) เพราะการรักษาพืชให้หายดี เช่น พืชปกตินั้น ย่อมทำได้ยาก                
การฉีดเททระไซคลินเข้าต้นลำไย เพื่อรักษาโรคพุ่มไม้กวาด


๗. การตัดแต่งส่วนเป็นโรคหรือทำลายต้นเป็นโรค 
เมื่อพบโรคระยะเริ่มต้น เป็นเพียงเล็กน้อยที่กิ่งก้านหรือใบ ควรตัดส่วนที่แสดงอาการออกทิ้ง หรือขุดต้นที่เป็นโรคออกทำลายโดยการเผา หรือฝังลึกๆ ไม่ควรกองทิ้งไว้ในบริเวณแปลงปลูก เพราะเชื้อสาเหตุในชิ้นส่วนเป็นโรคเหล่านั้นยังไม่ตาย และจะแพร่ระบาดเข้าทำลายพืชปกติต่อไป ในบางกรณีจำเป็นต้องขุดต้นออกทิ้ง เนื่องจากเชื้อเข้าทำลายจนทำให้ต้นทรุดโทรม รักษาให้หายได้ยาก เช่น โรครากเน่าของทุเรียน โรครากเน่าของส้ม เป็นต้น

ข้อควรระวัง 
๑. ในการตัดแต่งกิ่งก้าน หรือแต่งทรงพุ่มของไม้ผล การตัดไม้ดอกเพื่อจำหน่าย เช่น ดอกกล้วยไม้ ดอกหน้าวัว หรือแม้กระทั่ง การตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคทำลายทิ้ง ควรทราบว่า มีโรคบางชนิดที่ติดไปกับมีด หรืออุปกรณ์ที่ใช้ เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถถ่ายทอดโรคได้ง่ายโดยเชื้อในน้ำเลี้ยงพืชเป็นโรคติดไปกับมีด หรือเครื่องมือที่ใช้ เมื่อนำไปตัดต้นปกติ ก็จะทำให้ต้นปกติเกิดโรค และทำให้เกิดการแพร่ระบาด เช่น โรคไวรัสของกล้วยไม้ ซึ่งมีระบาดทั่วไปทุกแหล่ง เนื่องจาก การขยายพันธุ์โดยขาดความระมัดระวัง ดังนั้นจึงต้องมีการฆ่าเชื้อที่ติดมากับเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ด้วย 
๒. แผลที่เกิดจากการตัดแต่งดังกล่าว จะต้องมีการทายากันราหรือฉีดยาบริเวณที่เป็นโรค ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเข้าทำลายทางบาดแผล และเพื่อลดปริมาณ หรือฆ่าเชื้อในบริเวณที่พบโรค ซึ่งจะเป็นทางป้องกันการแพร่ระบาดโรคต่อไป

๘. การใช้พันธุ์ต้านทานโรคปลูก 
พืชที่จะนำมาปลูก นอกจากจะมีการคัดพันธุ์ทางด้านการเจริญเติบโตให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดีแล้ว ยังจะต้องมีการคัดพันธุ์ หรือพยายามผสมพันธุ์ใหม่ให้ได้พันธุ์ที่มีความต้านทานโรคมาปลูก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาต้นทุนการผลิตสูง คือ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในด้านการดูแลรักษา และการใช้ยาฉีดป้องกันโรคหรือแมลง ปัจจุบันบ้านเราก็มีพืชพันธุ์ต้านทานโรค ที่ใช้ได้ผล และแพร่หลาย อยู่ในขณะนี้ เช่น ข้าวพันธุ์ ก.ข. ๑,,๕ ซึ่งต้านทานโรคใบสีส้ม ข้าวพันธุ์ ก.ข. ๗. ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ข้าวโพดพันธุ์ "สุวรรณ๑" ต้านทานโรคราน้ำค้าง เป็นต้น

ความต้านทานของพืชต่อโรคในแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ชนิดของเชื้อ เช่น โรคใบไหมของข้าว จะมีพันธุ์ต้านทานแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น

ภาคเหนือ ใช้พันธุ์ เหนียวสันป่าตอง คอเหลือง ๖๘๗ คำผาย ๑๕ และ ดอกมะลิ ๓
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พันธุ์ทางยี ๗๑ เหนียวสันป่าตอง คำผาย ๔๑ น้ำสะกุย ๑๙ ขาวดอกมะลิ และขาวปากหม้อ ๖๗
ภาคกลาง ใช้พันธุ์ นางมล เอส ๔ ขาวปากหม้อ
ภาคใต้ ใช้พันธุ์ เผือกน้ำ ๔๓ พวงไร่ ๒

งานทางด้านการคัดพันธุ์นี้จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา ดังได้กล่าวแล้วว่าเชื้อโรคส่วนใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตและพยายามปรับตัว หรือผสมข้ามพันธุ์ ทำให้ได้เชื้อใหม่ที่มีความสามารถในการเข้าทำลายพืชต้านทานของเรา ดังนั้น พืชต้านทานแต่ละพันธุ์จึงมักมีช่วงระยะจำกัด จะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับความสามารถของเชื้อ พืชบางชนิดจะมีความต้านทานในระยะสั้นมาก เช่น ข้าวสาลี เพราะเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคราสนิมเหล็กในแต่ละท้องถิ่น มีหลายพันธุ์ และมักมีการผสมหรือปรับตัว เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่จะเข้าทำลาย และเกิดโรคกับพันธุ์ต้านทานได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

วิธีการต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ถ้าจะเลือกใช้แต่เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งมักจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ปัจจุบันได้มีการเน้นถึงการใช้วิธีการต่างๆ ดังกล่าวร่วมเข้าด้วยกัน ในลักษณะผสมผสาน (integrated control) และพยายามลดการป้องกันและกำจัดโดยการใช้ยา ทั้งนี้ เพราะการใช้ยา ซึ่งเป็นสารเคมี ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีที่เห็นผลรวดเร็ว ในการควบคุมและกำจัดโรค แต่ก็เป็นวิธีที่ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ และเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค จึงสมควรนำมาใช้ เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ส่วนวิธีการแบบผสมผสานโดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การคัดพันธุ์ปลูก การเลือกเวลาปลูกให้เหมาะสม รวมทั้งการปลูกพืชสลับหมุนเวียนที่ถูกต้อง จะช่วยลดปัญหาศัตรูพืชได้ผลดีพอควร ซึ่งจะต้องมีการศึกษา และปรับปรุงวิธีดังกล่าวนี้ ให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมในแต่ละกรณีต่อไป

โรคของพืช

โรคพืช (Pathology)

เนื้อหาเกี่ยวกับโรคพืชที่นำมาเสนอนี้ เป็นเพียงบทความเกี่ยวกับโรคพืชอย่างกว้างๆ สำหรับพืชทั่วไป ไม่ได้เจาะจงสำหรับพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อปูทางในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับโรคที่เกิดกับพืชก่อน หลังจากนั้น เราจึงค่อยพยายามทำความเข้าใจเพิ่มเติม เกี่ยวกับโรคพืชที่เกิดขึ้นกับเฟินโดยเฉพาะโอกาสต่อไป (ขออภัยที่ยังไม่มีภาพประกอบ ซึ่งจะนำมาปรับปรุงเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป)
โรคพืช เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ เกิดจากศัตรูของพืช กับอีกสาเหตุ ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
ก. ลักษณะอาการของโรคพืช
1 อาการของโรคพืชบนใบ
2. อาการของโรคที่พบทั้งต้น
3. อาการของโรคที่พบที่ราก
4. อาการของโรคที่ต้นกล้าพืช

ข. โรคพืชที่เกิดจากปัจจัยสภาแวดล้อม
1. การขาดแร่ธาตุอาหารในพืช
2. การมีธาตุอาหารมากเกินไป
3. สภาพของภูมิอากาศไม่เหมาะสม
4. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม

ค. โรคพืชที่เกิดจากศัตรูของพืช
อันเกิดจากสิ่งมีชีวิต จำพวก เชื้อจุลินทรีย์ จำพวกเชื้อรา เชื้อบัคเตรี เชื้อไวรัส ไส้เดือนฝอย

ง. โรคพืชที่เกิดจาก แมลงศัตรูพืช
ก. ลักษณะอาการของโรคพืช

1. อาการของโรคบนใบ
โรคที่เกิดบนใบ แสดงอาการแตกต่างกันไปหลายแบบ อาการเหล่านี้จะเกิดจาก หลายสาเหตุ
ทั้งขาดธาตุอาหาร หรือเกิดจากเชื้อไวรัส บัคเตรีและเชื้อราเข้าทำงาย ตัวอย่าง เช่น

1.1 อาการใบจุด แผลแห้งเป็นจุดกระจายบนใบ แผลมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยอาจจะเกิดแผลกลมหรือ แผลเหลี่ยม ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีจำนวนแผลมาก และลามติดต่อกันและทำให้ใบแห้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา เชื้อบัคเตรี

1.2 อาการใบไหม้ แผลแห้งมีขนาดใหญ่ อาจจะแห้งในบริเวณเนื้อในหรือจากขอบใบก็ได้ เมื่อเปรียบเทียบ กับโรคใบจุดแล้ว แผลที่เกิดจากอาการใบไหม้จะมีแผลขนาดที่ใหญ่กว่าและเป็นบริเวณกว้างกว่า สาเหตุส่วนใหญ ่เกิดจากเชื้อรา เชื้อบัคเตรีและอาจเกิดจากการให้ปุ๋ยหรือฉีดสารเคมี เช่น ยาปราบวัชพืช ยากันรามากเกินไปใน เวลาที่มีอากาศร้อนจัด

1.3 อาการใบเปลี่ยนสี มีหลายแบบ เช่น
(1) ใบด่าง เช่น ด่างเขียวเข้มสลับเขียวอ่อน ด่างเขียวสลับเหลือง ด่างโดยเกิดวงเหลืองหรือวงสีเขียวบนใบ อาการใบด่างอาจเกิดจากเชื้อ ไวรัส การขาดธาตุอาหาร แมลงดูดกิน หรือเกิดจากลักษณะการกลายพันธุ์ของพืช แต่โดยทั่วไป มักเกิดจากเชื้อไวรัส
(2) ใบขาวหรือเหลือง เนื้อใบสีเขียวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีด หรือเขียวอ่อนถึงสีขาว โดยมักจะเปลี่ยนสีทั้งใบ สาเหตุเกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา และขาดธาตุอาหารบางประเภท
1.4 อาการใบหงิกและใบหด เนื้อใบไม่แผ่เรียบ มักจะหงิกงอเป็นคลื่น ขอบใบมักจะม้วนขึ้นหรือม้วนลง พืชมีการเจริญไม่ปกติ มักแคระแกร็น มีขนาดเล็กลงเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับต้นปกติ สาเหตุมักเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแมลง ดูดกิน ถ้าเป็นการดูดกินของแมลงมักสังเกตเห็นตัวแมลงและรอยแผลเล็กๆบนพืชนั้น

1.5 อาการแคงเคอร์ บางทีเรียกว่าแผลสะเก็ด โดยเกิดเป็นแผลตุ่มนูนสีน้ำตาล ทั้งด้านบนและด้านล่าง ของใบ พบได้ทั้งบนผลและกิ่ง สาเหตุุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อบัคเตรี

1.6 อาการสแคป หรือแผลสะเก็ดคล้ายแคงเคอร์มาก แต่มักเกิดเฉพาะบนใบเท่านั้น ส่วนอาหารบนผลและ กิ่งเหมือนโรคแคงเคอร์ สาเหตุเกิดจากเชื้อราและบัคเตรี

1.7 อาการสนิมเหล็ก เกิดแผลเป็นตุ่มขุยสีสนิม พบได้ทั้งด้านบนใบ ด้านล่างของใบ รวมทั้งบริเวณ ก้านและลำต้น พบเป็นมากกับพืชตระกูลหญ้า เมื่อเกิดอาการรุนแรงจะเห็นผงสนิมมาก และเมื่อเอานิ้วลูบ จะมี ละอองสีเหลืองส้มติดนิ้วให้เห็น สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

1.8 อาการราแป้งขาว จะเห็นเชื้อราซึ่งมีลักษณะเป็นผงสีขาวขึ้นปกคลุมบนใบคล้ายแป้งฝุ่น หรือผงชอล์ก ปกคลุมทั่วไป อาการเริ่มแรกมักเกิดเป็นหย่อมๆแล้วขยายจนเต็มใบ ถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ใบแห้งตาย อาการส่วน ใหญ่มักเกิดกับใบอ่อน ยอดอ่อน และทำให้ส่วนต่างๆเหล่านี้ได้รับความเสียหายมากกว่าส่วนที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

1.9 อาการราน้ำค้าง บนใบ เกิดบริเวณเหลืองๆ เมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นลักษณะแผลเด่นชัดกว่าด้านบน บางครั้งพบอาการเซลล์ตายบนรอยแผลใต้ใบ และถ้าอากาศเย็นชื้นจะเห็นผงขาวๆซึ่งเป็นส่วนของเชื้อราสาเหคุได้ชัดเจน อาการของโรคนี้จะต่างกันไปในแต่ละพืช เช่น แตง คะน้า ข้าวโพด ถ้าเป็นกับข้าวโพดจะแสดงอาการด่างเป็นปื้นเหลืองสลับเขียว และมักผิดปกติ

1.10 อาการราดำ ใบจะมีผงคล้ายเขม่าดำปกคลุมผิวใบหรือตามส่วนต่างๆของพืช เมื่อใช้มือลูบผงดำนี้ จะหลุดออก อาการราดำนี้จะพบพร้อมๆกับแมลงจำพวกเพลี้ย เพราะเชื้อราชนิดนี้ชอบน้ำหวานจากเพลี้ยที่ขับออกมา

1.11 อาการแอนแทรคโนส เกิดแผลแห้งตายสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นวงๆคล้ายวงแหวน เรียงซ้อนกัน เป็นชั้นๆ อาจเกิดบริเวณเนื้อใบ หรือจากปลายใบเข้ามา ถ้าเป็นรุนแรง ใบจะแห้งตายในที่สุด เกิดกับส่วนใบ กิ่งและผล สาเหตุเกิดจากเชื้อรา
2. อาการของโรคที่พบทั้งต้น เช่น

2.1 อาการเหี่ยว เริ่มแรกมักเห็นใบเหี่ยวลู่ลงก่อน แล้วค่อยๆเหี่ยวทั้งต้นและตายในที่สุด เมื่อพบอาการเหี่ยว ควรพิจารณาถึงสาเหตุเนื่องจากพืชขาดน้ำ แต่ถ้าพืชแสดงอาการเหี่ยวในบริเวณที่มีน้ำสมบูรณ์ แสดงว่าการทำงาน ของระบบรากไม่ปกติ อาจเกิดรากเสีย เช่น รากปม รากเป็นแผล รากขาดเนื่องจากการทำลายของไส้เดือนฝอยหรือ การเขตกรรม รากเน่าจากการทำลายของเชื้อรา บัคเตรีหรือมีน้ำขัง บางครั้งพบว่าระบบท่อน้ำภายในพืชถูกอุดตัน เนื่องจากสาเหตุบางประการ

2.2 อาการแตกพุ่ม บริเวณจุดเจริญ เช่น ตาดอก ตาใบมีการเจริญแตกเป็นกิ่งก้านและใบมากกว่าปกติ แต่ใบและก้านที่แตกนี้ไม่สมบูรณ์ มีขนาดเล็ก เป็นพุ่มกระจุกคล้ายไม้กวาด ในพืชบางชนิดกลีบดอกจะมีลักษณะ คล้ายใบและเกิดเป็นพุ่มสีเขียวแทนดอก ตัวอย่างที่พบ ได้แก่ การแตกพุ่มไม้กวาดของลำไย การแตกพุ่มไม้กวาดของ ถั่วฝักยาว การแตกพุ่มของตะบองเพชร การเกิดพุ่มสีเขียวของพิทูเนีย และพังพวย สาเหคุเกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา

2.3 อาการเน่าเละ เนื้อเยื่อพืชจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงดำ เกิดอาการเน่าเละมีน้ำเมือก มักมีกลิ่นเหม็น รุนแรง เกิดได้กับส่วนต่างๆของพืชทั้งผล ราก หัว และใบ มักเกิดกับพวกผัก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดเขียว ผักกาดหัว และผลผลิตทางการเกษตรในโรงเก็บ สาเหตุเกิดจากเชื้อบัคเตรี

2.4 อาการแคระแกร็น พืชเจริญเติบโตไม่เต็มที่ มีการชะงักการเจริญเติบโตต้น กิ่ง ก้าน ใบและผล มีขนาดเล็ก บางครั้งพบลำต้น ข้อปล้อง กิ่งก้าน สั้นและแข็งกระด้าง มักมีอาการใบเปลี่ยนสีและหงิกงอรวมอยู่ด้วย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส
3. อาการของโรคที่พบที่ราก เช่น

3.1 อาการรากปม รากจะมีอาการพองออกเป็นปม โดยจะพองออกจากภายใน มิใช่พองด้านในด้านหนึ่ง สาเหตุเกิดจากไส้เดือนฝอย

3.2 อาการรากแผล รากเกิดแผลเล็กๆซึ่งอาจเกิดจากการทำลายของไส้เดือนฝอยหรือแมลงบางชนิด

3.3 อาการรากเน่า สังเกตได้โดยต้นพืชมักจะเหี่ยวเมื่อตรวจดูราก จะพบว่ารากเน่าดำหรือเป็นสีน้ำตาล เปลือกจะล่อนหลุดติดมือออกมา สาเหตุมักเกิดจากเชื้อรา หรืออาจเกิดจากมีน้ำขังทำให้รากเน่าเปื่อย เป็นต้น
4. อาการของโรคที่ต้นกล้าพืช ได้แก่
อาการต้นกล้าเน่า อาการทั่วไปในแปลง จะพบว่าต้นกล้าฟุบตายเป็นหย่อมๆ เมื่อนำกล้ามาพิจารณาดูที่ต้น จะเห็นว่า บริเวณโคนต้นจะมีลักษณะแผลช้ำ เหี่ยวแฟบ คอรวงเป็นสีน้ำตาลดำและเน่า เป็นเหตุทำให้ต้นกล้าหักพับลง พบกับกล้าพืชแทบทุกชนิดในแปลงที่มีกล้าแน่นเกินไปและมีความชื้นสูง สาเหตุเนื่องจากเชื้อรา


ข. โรคพืชที่เกิดจากปัจจัยสภาพแวดล้อม
สาเหตุของโรคพืชเนื่องจากปัจจัยสภาพแวดล้อม ได้แก่ การขาดแร่ธาตุอาหาร การได้รับพิษจากสารเคมีมากเกินไป ความเสียหายเนื่องจากพืชได้รับอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป ความแห้งแล้ง ไฟป่า เป็นต้น อาการผิดปกติเนื่องจากสาเหตุเหล่านี้ บางครั้งพืชแสดงอาการคล้ายกันกับโรคติดเชื้อ เช่น อาการขาดแร่ธาตุบางชนิด แสดงอาการซีดเหลืองคล้ายกับที่เกิดจากเชื้อไวรัส และมายโคพลาสมา และอาการเป็นพิษจากสารเคมีที่ทำให้เกิดแผลคล้ายที่เกิดจากเชื้อรา เป็นต้น ทำให้เกิดการสับสนได้ จึงมีความจำเป็นต้องทำการตรวจวินัจฉัยอย่างละเอียดก่อนสรุปว่าเกิดจากสาเหตุใดแน่

1. การขาดแร่ธาตุอาหารในพืช
เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของโรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต พืชจะแสดงอาการขาดธาตุอาหารเมื่อสภาพดินที่ปลูกขาดแร่ธาตุชนิดนั้น ๆ หรืออยู่ในสภาพที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้เนื่องจากสภาพความเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสม ลักษณะอาการพืชที่ขาดธาตุบางชนิดอาจสรุปได้ดังนี้
ขาดธาตุไนโตรเจน พืชเจริญเติบโตช้า ใบมีสีซีดเหลืองทั่วทั้งต้น เริ่มจากใบล่างก่อน
ขาดธาตุฟอสฟอรัส พืชเจริญเติบโตช้า ใบมีสีเขียวเข้มหรือม่วงบริเวณใบล่าง ๆ ลำต้นมียอดสั้น
ขาดธาตุโพแทสเซียม ต้นพืชมียอดน้อย ใบล่างซีดเหลือง ขอบใบม้วนขึ้น ปลายใบและขอบใบแห้งมีสีน้ำตาล ผลมีขนาดเล็กลง
ขาดธาตุแมกนีเซียม ใบแก่ แสดงอาการซีดเหลืองหรือแดงบริเวณขอบใบและปลายใบก่อน ใบมีสีซีดเหลืองเป็นรูปตัววีหัวกลับ ขอบใบม้วนขึ้น
ขาดธาตุแคลเซียม ใบอ่อนบิดงอ ชะงักการเจริญเติบโต แสดงอาหารบิดม้วนขอบใบฉีก ตายอดแห้งตาย ลำต้นมีรากน้อย ทำให้ผลแตกในไม้ผลหลายชนิด
ขาดธาตุโบรอน  ทำให้ก้านใบอ่อนแตกและหัก ใบบิดงอ ราก ลำต้น และผลแสดงอาการแผลแตก ลำต้นเป็นรูกลวง และเมล็ดลีบในผักหลายชนิด
ขาดธาตุกำมะถัน ใบอ่อนมีสีซีดเหลืองทั่วทั้งใบ
ขาดธาตุเหล็ก ใบอ่อนมีสีซีดเหลืองแต่เส้นใบยังคงมีสีเขียว
ขาดธาตุสังกะสี ใบด่างเหลืองระหว่างเส้นใบ ใบมีขนาดเล็กเกิดเป็นกระจุก
การวินิจฉัยการขาดธาตุในพืชอาจทำได้โดยการวิเคราะห์จากเนื้อเยื่อพืช (tissue analysis) จากใบที่สร้างใหม่ ๆ แล้วเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานที่วิเคราะห์ได้จากพืชปกติ
การวิเคราะห์ดินและวัดระดับความเป็นกรดเป็นด่างในดิน จะช่วยในการเตรียมป้องกันการขาดธาตุอาหารในพืชได้
2. การมีธาตุอาหารมากเกินไป
ธาตุอาหารที่พืชมีความต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาจเกิดการสะสมทำให้เกิดความเข้มข้นในเนื้อเยื่อพืชสูงขึ้นจนถึงขั้นที่เป็นพิษกับพืช เช่น 
การมีธาตุโบรอน (B) มากเกินไป ทำให้พืชเกิดอาการใบเหลืองขึ้นเป็นแห่ง ๆ เนื่องจากขาด chiorophyll เริ่มจากปลายใบแล้วจึงลุกลามไปตามของใบเกิดการไหม้และใบร่วงหล่นได้ เป็นต้น

3. สภาพของภูมิอากาศไม่เหมาะสม

3.1 ปริมาณน้ำไม่เหมาะสม 
พืชที่ประสบกับความแห้งแล้งของอากาศจะมีอาการใบเหลือง ใบมีสีม่วง ใบเหี่ยวย่น และตายอย่างรวดเร็วและใบไหม้ระหว่างเส้นใบ และตามขอบใบ หรือถ้าเกิดการแห้งแล้งอย่างรุนแรงใบจะเหี่ยวแห้งตาย ใบและผลของไม้ยืนต้นจะหลุดร่วงก่อนกำหนด การตายของใบและผลอาจเนื่องจากการขาดน้ำภายในเซลล์ทำให้ความเข้มข้นของธาตุเพิ่มขึ้นจนเป็นพิษ ในไม้ยืนต้น ผลของความแห้งแล้งมักจะปรากฎในฤดูถัดไป โดยเกิดการตายแบบตายจากปลายยอด (dieback) ของกิ่งก้าน
กรณีความชื้นในดินที่มากเกิน ทำให้โรคบางชนิดเกิดได้ง่าย เช่น รากเน่า ในดินที่มีการระบายน้ำไม่ดีจะมี ไนไตรท์ (nitrite) สูงและเป็นพิษกับพืช พืชจะเจริญเติบโตช้า ใบเหลือง ในไม้ยืนต้นใบจะร่วงและเกิดอาการ dieback ของยอด

3.2  อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไป
อุณหภูมิที่ต่ำทำให้เกิดผลเสียแก่พืชคือ อุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับอุณหภูมิต่ำสุดที่พืชจะเจริญได้ ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงาน (metabolism) ช้าลง มีผลทำให้พืชโตช้า ถ้าเกิดติดต่อกันยาวนาน พืชจะตายก่อนกำหนด หรืออุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0  องศาเซลเซียสอาจจะฆ่าต้นพืช เพราะน้ำที่อยู่ระหว่างเซลล์และภายในเซลล์กลายเป็นน้ำแข็งใบของต้นพืชที่ถูกกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดมากเกินไปจะสูญเสียน้ำและเนื้อเยื่อจะตาย โดยเริ่มที่ปลายใบก่อนเป็นที่ขอบใบ ต้นพืชจะเหี่ยวอย่างรวดเร็ว อาการที่พบคือ เกิดแผลพอง (scald) ที่ผล และอาการแผลแตก (heat canker) ที่ลำต้น 

3.3 แสง ได้รับแสงไม่เหมาะสมกับประเภทของพืช

4. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสมและถูกต้องอาจเป็นสาเหตุที่ทำความเสียหายแก่พืช เช่น การใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรต่าง ๆ ได้แก่ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ (สารกำจัดเชื้อสาเหตุโรค สารกำจัดแมลง และสารกำจัดวัชพืช) โดยอาจใช้ในอัตราที่เข้มข้นสูงเกินไป เลือกสารไม่เหมาะสมกับพืช ซึ่งจะทำให้พืชแสดงอาการใบไหม้หรือใบจุดได้

ค. โรคพืช อันเกิดจากศัตรูของพืช
จำพวกจุลินทรีย์และไส้เดือนฝอย
เช่น เชื้อรา (fungi), แบคทีเรีย (bacteria), ไส้เดือนฝอย (nematode), ไฟโตพลาสมา (phytoplasma), ไวรัส (virus), ไวรอยด์ (virord) เป็นต้น

1. เชื้อราสาเหตุโรคพืช
ลักษณะของเชื้อราทั่วไปจะเป็นเส้นใยคล้ายเส้นด้ายละเอียด มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะเห็นได้เมื่อมีการเจริญเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นกลุ่มโคโลนีของเส้นใย สปอร์ก็จะเจริญและงอกเข้าไปในพืชโดยการแทงผ่านผิวพืชเข้าไปในพืชได้โดยตรง หรืองอกแล้วแทงผ่านเข้าไปตามแผลที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของพืช หรือเข้าตามช่องเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ เมื่อเข้าไปแล้วเชื้อราพวกนี้ก็จะมีการสร้างสารพิษ เอนไซม์ หรือสารกระตุ้นต่าง ๆ ทำลายพืชให้ได้รับความเสียหาย เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติไป มีเชื้อรามากกว่า 8,000 ชนิดที่เป็นสาเหตุโรคพืช ไม่น้อยกว่า 100,000 โรค
เชื้อราสาเหตุโรคพืชสามารถจัดกลุ่มตามลักษณะอาการต่าง ๆ ของโรคได้ เช่น โรคเน่าคอดิน (damping off), ราสนิม (rust), ราแป้ง (powdery mildew), จุดนูนดำ (tar spot), ใบไหม้ (leaf blight), ยอดตาย (dieback), แผลแตกตามลำต้น (canker) ฯลฯ เป็นต้น

2. เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืช
แบคทีเรียเป็นจุลินทรีย์เซลล์เดียว มีผนังแข็งห่อหุ้มเซลล์ (cell wall) รูปร่างจึงคงที่ ขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแบคทีเรียสาเหตุโรคพืชมีประมาณ 200 ชนิด ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นทอนสั้นและไม่สร้างสปอร์ แต่จะมีชั้นเมือกหรือแคบซูลห่อหุ้มผนังด้านนอกเซลล์อีกชั้นหนึ่ง จึงช่วยให้มีอายุนานและทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดีขึ้น แบคทีเรียบางชนิดสามารถผลิตสารพิษและเอนไซม์ทำลายพืชให้ได้รับความเสียหายได้ บางชนิดสร้างสารเร่งการเจริญเติบโตไปทำให้เซลล์พืชเจริญมากผิดปกติ เกิดอาการบวมพอง เป็นปุ่มปม
แบคทีเรียเข้าทำลายพืชได้ทางแผลที่เกิดขึ้นตามผิวพืชและทางช่องเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ
การแพร่กระจายของแบคทีเรียไปสู่ที่ต่าง ๆ จะเป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของเชื้อรา
แบคทีเรียมักจะถูกยับยั้งการเจริญได้ง่ายโดยการปฏิชีวนะแทบทุกชนิด รวมทั้งสารประกอบที่มีธาตุทองแดงเป็นส่วนผสม

3. ไส้เดือนฝอยศัตรูพืช
ไส้เดือนฝอยเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีขนาดเล็กมากยากที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณรูปร่างยาวเรียวเป็นส่วนใหญ่ บางชนิดตัวเมียเมื่อโตเต็มวัย มีลักษณะบวมพอง อ้วนกลม ไส้เดือนฝอยดูดแย่งอาหารจากพืชโดยใช้หลอดดูดอาหารในช่องปากที่มีลักษณะเป็นเข็มกลวงปลายแหลมเรียกว่า spear หรือ stylet บางชนิดเกาะติดอยู่ภายนอกส่งเฉพาะ stylet เข้าไปดูดอาหารในเซลล์พืช บางชนิดปักเฉพาะส่วนปากและหัวเข้าไป บางชนิดเข้าไปอยู่ในพืชทั้งตัว ทำให้พืชเป็นโรคโดยทำลายเซลล์พืชหรือไปเปลี่ยนแปลงขบวนการเจริญเติบโตของพืชให้ผิดปกติไป

4. เชื้อไฟโตพลาสมาสาเหตุโรคพืช
เริ่มมีรายงานว่าเป็นเชื้อสาเหตุโรคได้ เมื่อ พ.ศ. 2503 มีเซลล์เดียวและมีเฉพาะเนื้อเยื่อห่อหุ้มเซลล์ แต่ไม่มีผนังล้อมรอบ ทำให้รูปร่างของเซลล์ไม่แน่นอน จะพบอยู่ในเซลล์พืชเท่านั้น โดยเฉพาะที่ท่อลำเลียงอาหารทำให้พืชแสดงอาการเหลืองผิดปกติ เชื้อแพร่ระบาดได้ดี โดยมีแมลงพวกปากดูดเป็นพาหะพาไป โดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่น ซึ่งเชื้อนี้จะเจริญและทวีจำนวนในตัวแมลงได้ ลักษณะเฉพาะของเชื้ออีกประการหนึ่งคือมีสารปฏิชีวนะเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถยับยั้งการเจริญหรือฆ่าเชื้อบนพืชได้คือสารเตตราไซคลีน (tetracycline) ปัจจุบันมีรายงานพบเชื้อไฟโดพลาสมามากกว่า 80 ชนิดเป็นสาเหตุโรคของพืชกว่า 300 ตระกูล

5. เชื้อไวรัสและไวรอยด์สาเหตุโรคพืช ไวรัสและไวรอยด์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่สุด อนุภาคของไวรัสมีเฉพาะกรดนิวคลีอิค (nucleic acid) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาร์เอ็นเอ และโปรตีนเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ไวรอยด์ไม่มีโปรตีนมีแต่อาร์เอ็นเอ (RNA) จะมองเห็นได้เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ (Electron Microscopes) กำลังขยาย 2,000-3,000 เท่า มีรายงานว่าพบไวรัสไม่น้อยกว่า 500 ชนิด ที่สามารถเข้าทำลายและเป็นสาเหตุโรคพืชได้

ง. โรคพืช อันเกิดจากศัตรูของพืช

จำพวกแมลง